กรมประมง เผยพบ “ลูกหอยแครง” ในอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี เกิดมากที่สุดในรอบ 3 ปี ผลพวงจากการวางมาตรการที่เข้มงวด เล็งปู 3 แนวทาง เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนโดยเน้นการมีส่วนร่วม หนุนคลายปมข้อพิพาทการแย่งชิงทรัพยากรชายฝั่งทะเลระหว่างชาวประมงพื้นบ้าน และผู้ประกอบการเลี้ยงหอย
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเลของอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะเขตอำเภอเมือง และอำเภอพุนพิน เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกิดและแพร่ขยายพันธุ์ของหอยแครง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีแม่น้ำ ลำคลองหลายสายได้ไหลมาบรรจบ และได้นำพาแร่ธาตุอาหารไหลลงสู่อ่าวบ้านดอน ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติอย่างมาก ลูกหอยแครงจึงมักเกิดขึ้นในบริเวณนี้เป็นส่วนใหญ่ โดยในช่วงหน้าแล้งหากมีฝนตกหลายวัน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความเค็มของน้ำทะเล ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้หอยแครงมีการวางไข่และผสมพันธุ์ และหากในปีใดน้ำทะเลมีความเค็มสูง (สูงกว่า 25 ppt) ลูกหอยก็จะสามารถเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลของกรมประมงพบว่า ในบริเวณอ่าวบ้านดอนมีลูกหอยแครงเกิดปริมาณมากขึ้นในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปีที่ผ่านๆ มาน้ำทะเลมีค่าความเค็มต่ำ แต่ในปีนี้ น้ำทะเลในอ่าวบ้านดอนกลับมีความเค็มสูงกว่าทุก ๆ ปี ประกอบกับก่อนช่วงที่ลูกหอยจะเกิด ยังมีฝนตกลงมา 3-4 ช่วงๆ ละ 3-4 วัน ทำให้น้ำจืดไหลลงสู่ทะเลสลับกับน้ำเค็มจัด จึงกระตุ้นให้หอยแครงผสมพันธุ์ และวางไข่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราการรอดของลูกหอยในพื้นที่ดังกล่าว คือ การใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ.2560 เพื่อวางมาตรการสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเข้มงวด ทำให้ลูกหอยวัยอ่อนไม่ถูกรบกวนจากเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง โดยได้มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ.2560 ระยะ 3 ไมล์ทะเล และการออกประกาศกำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทำประมงของเครื่องมือคราดหอยที่ห้ามทำประมงในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 โดยห้ามทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และให้สามารถทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่งได้ ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
1.เครื่องมือคราดหอยที่มีความกว้างของปากคราดไม่เกิน 3.5 เมตร
2.เครื่องมือคราดหอยที่มีขนาดช่องซี่คราดมากกว่า 1.2 เซนติเมตร (โดยวัดจากด้านในของซี่คราดหนึ่งไปยังด้านในของอีกซี่คราดหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กัน)
3.ความยาวของเรือกลที่ใช้ประกอบกับเครื่องมือคราดหอยต้องไม่เกิน 18 เมตร
4.จำนวนของเครื่องมือคราดหอยต้องไม่เกิน 3 อัน (หน่วย) ต่อเรือกล 1 ลำ
ส่วนการจับด้วยมือ สวิง หรือการทำการประมงโดยวิธีอื่น ที่ไม่ใช้เรือประกอบเครื่องยนต์ สามารถทำการประมงในเขตชายฝั่งได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังเห็นควรให้พื้นที่จับสัตว์น้ำในเขตอำเภอเมืองและอำเภอพุนพิน ซึ่งเป็นแหล่งเกิดพันธุ์ลูกหอยแครงตามธรรมชาติเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และจากปริมาณทรัพยากรลูกหอยแครงที่เกิดขึ้นจำนวนมากนี้ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรในเขตพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต ระหว่างกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการเลี้ยงหอย กรมประมงจึงได้วางแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรหอยแครงเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์
อย่างยั่งยืน ดังนี้
1. บูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ร่วมกันบังคับใช้กฎหมายในการจัดการแปลงหอยที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ทำการประมงของชาวประมง
2. ใช้กลไกของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงหอยทะเล พร้อมประกาศให้เป็นเขตพื้นที่อนุญาตเลี้ยงหอยตามขั้นตอนต่อไป โดยการให้สิทธิกับชาวประมงพื้นบ้านในการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านการเพาะเลี้ยงเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน
3.กำหนดพื้นที่บางส่วนเป็นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำห้ามทำการประมงอย่างถาวร โดยประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ ตามมาตรา 56 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์หอยแครง
“ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่สาธารณะของอ่าวบ้านดอนได้อย่างเท่าเทียม บนพื้นฐานของความถูกต้องตามกฎหมาย โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด เพื่อร่วมกันสร้างผลผลิตให้ทรัพยากรหอยแครงคงความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับการประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย”อธิบดีกรมประมง กล่าว
"มีส่วนร่วม" - Google News
June 16, 2020 at 12:10PM
https://ift.tt/2zC211l
ประมง ปูแนวทางบริหาร “หอยแครง” อ่าวบ้านดอน หนุนคลายปมข้อพิพาทแย่งชิงขุมทรัพย์ชายฝั่งทะเล ด้วยการมีส่วนร่วม - สยามรัฐ
"มีส่วนร่วม" - Google News
https://ift.tt/3eCA8Vu
No comments:
Post a Comment