“บทพูด” ที่คณะทำงานเขียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “อ่านออกอากาศ” ด้วยท่วงท่าที่ “เป็นธรรมชาติมากขึ้น” ทำให้ท่านดูดีที่สุดนับแต่เป็นนายกฯ รอบที่ 2 เป็นต้นมา ทว่าก็เป็น “ดาบสองคม” ที่จะย้อนมา“บั่นหัว” ท่านเอง ในฐานะที่ “พูดแต่ไม่ทำ”
ถ้อยคำแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี เรื่อง “วิธีการทำงานแบบ New Normal ของนายกรัฐมนตรี” วันที่17 มิถุนายน 2563 ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ความตอนหนึ่งว่า
“...วันนี้ ผมจึงขอประกาศให้ทุกท่านทราบว่า เมื่อเราเข้าสู่โลกใหม่ จากนี้เป็นต้นไป การทำงานของรัฐบาล จะต้อง New Normal ปรับเปลี่ยนเป็นวิธีการทำงาน
แบบใหม่ด้วย
หนึ่ง - “ผนึกทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศไทย”
ต่อไปนี้รัฐบาลจะต้องทำงาน โดยดึงทุกภาคส่วน และทุกระดับในสังคม เข้ามามีส่วนร่วม และมีบทบาทมากขึ้น ในการช่วยกันกำหนดอนาคตของประเทศ
หลังโควิด ผมจะปรับวิธีการวางแผน และกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลจากนโยบายต่างๆ เหล่านั้น ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ใช่แค่รับรู้นโยบายต่างๆ จากการอ่านข่าวทางหนังสือพิมพ์หรือสื่อออนไลน์เหมือนที่ผ่านๆ มาต่อไปนี้ประชาชนต้องมีโอกาสมีส่วนร่วม รัฐบาลต้องได้ยินเสียงของประชาชน และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ให้มากขึ้น
แนวความคิดนี้เกิดจาก ในช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของวิกฤติโควิด ผมได้เดินทางไปพบปะกับสมาคมภาคธุรกิจต่างๆ ด้วยตัวของผมเอง ได้รับฟังและหารือกับผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ความเดือดร้อนโดยตรง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก ผมจึงอยากจะต่อยอดวิธีการทำงานแบบนี้
สิ่งที่ผมต้องทำ ในฐานะผู้นำประเทศ คือ เปิดโอกาสให้คนมากมายที่มีความปรารถนาดี และอยากจะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ แต่ไม่เคยมีโอกาสมาก่อน ได้มีโอกาสและมีส่วนร่วมมากขึ้น ผมต้องทำให้ฟันเฟืองที่สำคัญตัวนี้นั่นคือความสามารถของคนในประเทศ ได้ถูกนำมาใช้ ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยของเราให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ในช่วงสัปดาห์ข้างหน้า ผมจะขอให้แต่ละภาคส่วนเตรียมการเข้ามานำเสนอวิสัยทัศน์ และความคิด ในการเปลี่ยนโฉมและขับเคลื่อนภาคส่วนของท่าน ไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยนำพาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าให้ได้ไกลขึ้น และรวดเร็วขึ้นด้วย
โดยหลังจากได้รับความคิดเห็นต่างๆ มาแล้ว รัฐบาลจะพิจารณาความเป็นไปได้ ศึกษาข้อดี ข้อเสีย ของข้อเสนอแนะต่างๆ ในวิธีการที่โปร่งใส และเปิดกว้าง ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อหาหนทางที่ดีที่สุด ที่จะดำเนินการโครงการนั้นๆ ให้เกิดขึ้นจริง อย่างมีประสิทธิภาพ และบูรณาการกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง
ผมเชื่อว่า คนไทยทุกคนมีความสามารถและมีบทบาทที่จะช่วยกันนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นรัฐมนตรี ข้าราชการ เจ้าของธุรกิจ พนักงานบริษัท คนประกอบอาชีพต่างๆ เกษตรกร ครู หรือตัวแทนจากภาคประชาสังคม ทุกคนมีบทบาทที่จะช่วยประเทศได้ เพราะเมื่อทุกคนสามารถยกระดับชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น สังคมโดยรวมก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ในเมื่อประเทศไทยเป็นของเราทุกคน ถ้าเราจับมือกันให้แน่น เราจะเจอวิธีแก้ไขปัญหาบางอย่าง ที่เราเคยคิดว่าเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก
อย่างที่สอง ที่ต้องเปลี่ยน คือ “การประเมินผลงานภาครัฐ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริง”
ผมได้ตัดสินใจแล้วว่า เมื่อเราเลือกที่จะปรับวิธีการทำงานของรัฐบาล โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากขึ้น เราก็ควรต้องเปลี่ยนระบบประเมินผลการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เพื่อประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของรัฐ ว่ามันได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนตามที่เราคาดหวังไว้หรือไม่
เราต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเราต้องกำจัดสิ่งที่ทำแล้วเสียเปล่า ไม่มีประโยชน์ ต่อประชาชน ออกไปให้ได้มากที่สุด ดังนั้น สิ่งที่ผมจะทำให้เกิดขึ้นเป็นอันดับต่อไปก็คือ ผมจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีบทบาทในการประเมินผล และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ให้ผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลได้รับทราบโดยตรงได้ด้วย
อย่างที่สาม ที่ต้องทำ คือ “การทำงานเชิงรุก”
ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง เราต้องทำงานให้บูรณาการมากขึ้น และผมจะทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยจะกำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ให้กับกระทรวงต่างๆ ทำขึ้นมาขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยผมจะติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นจริงอย่างมีประสิทธิภาพ
ผมรู้ว่า เมื่อเราเริ่มทำงานในวิธีการแบบใหม่ อาจจะมีเสียงคัดค้าน ไม่เห็นด้วย หรือมีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น ซึ่งผมพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะและหากเป็นข้อเสนอแนะที่ดี ผมก็พร้อมที่จะทำตามข้อเสนอแนะนั้นด้วย
เพราะประชาชนคนไทยรอไม่ได้อีกต่อไปแล้วครับ คนไทยควรจะได้ก้าวไปสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น ดังนั้น เราต้องไม่เสียเวลาไปกับการถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดแล้วปล่อยให้คนไทย ต้องอดทนรอต่อไปอีกเป็นเดือนๆ ปีๆ หยุดอยู่กับที่ แทนที่จะได้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า
เราต้องหยุดเสียเวลาไปกับการคุยเรื่องไม่สร้างสรรค์ เราต้องหยุด ไม่ปล่อยให้เกมการเมือง ที่ไม่สุจริต บิดเบือนข้อเท็จจริง มาดึงรั้งการก้าวเดินไปข้างหน้าของประเทศโดยไม่จำเป็น เป้าหมายข้างหน้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองของประเทศรอเราอยู่ เส้นทางนี้ไม่ใกล้ แต่ก็ไม่ไกลจนเกินไป ถ้าเราทุกคนร่วมมือกัน
เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ได้ตัดสินใจร่วมกันวันนี้ ว่า เราจะเดินหน้าภารกิจที่สำคัญนี้ไปด้วยกัน นั่นคือภารกิจ “รวมไทยสร้างชาติ” โดยคนไทยทุกคน...”
บทพูดสวยๆ ทั้งหมดนี้ จะเป็น “เครื่องผูกมัด”จะเป็น “ไม้บรรทัด” วัดการกระทำของท่าน ว่า “คนจริง”หรือ “ไอ้ขี้คุย” ในขณะที่สถานการณ์แวดล้อม ยังเต็มไปด้วยการปิดกั้น เอาเปรียบ และไม่แยแสการสร้าง“ธรรมาภิบาล” ใดๆ
ยกตัวอย่าง เช่น ขณะกำลังจะเลือกตั้งซ่อมที่ลำปาง รองนายกฯ แก่ที่สุดของท่านก็บินไปตรวจงาน ไปส่งมอบพื้นที่ ไปเอาหน้าเอาตาในเขตเลือกตั้งซ่อม ท่ามกลางข่าวว่ากำลังจะเป็น “หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งส่งคนแข่งขันในพื้นที่ดังกล่าวในสภาพที่ “แพ้ไม่ได้” วิธีการอันน่ารังเกียจแบบนี้ เคยเกิดขึ้นแล้วตอนจะเลือกตั้ง ที่คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ประชุมสัญจรทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย เอางบประมาณไปหว่านโปรย ในลักษณะที่คนตีความว่า “หาเสียงล่วงหน้า” ในเวลาที่ยัง“กดหัวคนอื่นไว้ ไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง”
ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจคณะรัฐมนตรี ออกพระราชกำหนด “กู้เงิน” จำนวนมหาศาล โดยใช้สถานการณ์โรคระบาดเป็นความชอบธรรม แต่ครั้นจะตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามตรวจสอบประเมินผลการใช้เงิน ก็อิดๆ ออดๆ อยู่พักใหญ่ ครั้นต้านกระแสเรียกร้องไม่ไหว ก็เปิดทางให้มีกรรมาธิการฯชุดนี้แต่ก็มีกระบวนการ “ล็อก” เพื่อให้คนที่ตน “วางใจ” ว่า “ทำงานให้ระดับสุดยอด” อย่างนายไพบูลย์ นิติตะวัน มาเป็นประธานกรรมาธิการชุดนี้ ท่ามกลางเสียงข้างมากที่มีอยู่แล้ว มิไยดีว่า พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา พยายามลดกระแสความทุเรศลงด้วยการเสนอชื่อ “ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน” จากพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นประธาน ด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ ความสุภาพ ความเป็นนักประชาธิปไตย และความเป็นคนที่ “รู้จริงทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ” ตลอดจนแสดงจุดยืนแน่วแน่มาโดยตลอดที่อยากเห็นเงินกู้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพและสุจริต ไม่มีท่าทีเป็นอุปสรรคขัดขวางรัฐบาลนี้เลยแม้แต่นิด ทั้งยังได้รับการยอมรับจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ฯลฯ ที่ก็แสดงท่าทีชัดเจนมากว่า ยินดี ถ้าจะมีประธานกรรมาธิการชื่อ “กนก” แต่แล้วสุชาติ ชมกลิ่น ก็ลงมือล็อบบี้ มีการต่อสายผ่านชินวรณ์ บุณยเกียรติ ให้โทรหา ดร.กนก ด้วย แต่ท่านไม่รับสายเพราะปรารถนาแน่วแน่ ที่จะให้กรรมาธิการชุดนี้เป็นที่ยอมรับได้ ได้ทำงาน และประสานความไม่ไว้วางใจขององค์คณะให้มาหยุดอยู่ที่ “วางใจกัน ทำงานด้วยกัน” แต่สุดท้ายก็ออกมาในรูป คนขอกู้ ที่จะเป็นคนใช้เงิน เอาคนของตัวเองมาตรวจสอบการใช้เงินนั้น “สุดยอดไหมล่ะ?”
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตคณะบดีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คระบุ ว่า
“...หากพลเอกประยุทธ์มีเจตจำนงแน่วแน่และจริงใจตามที่ประกาศ “เป็นสัญญาประชาคม” ในเรื่อง “การผนึกทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศไทย”, “การประเมินผลงานภาครัฐ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริง” และ “การทำงานเชิงรุก” สิ่งที่ควรตามมาและประชาชนควรได้เห็นภายในเดือนนี้หรือเดือนหน้าคือ
๑) จะเห็นพลเอกประยุทธ์ออกมาปฏิบัติการเชิงรุก ด้วยการประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน และแถลงแผนการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับ เพราะ
การเลือกตั้งท้องถิ่นคือการสร้างการมีส่วนร่วมให้แก่ประชาชนในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง
๒) เราจะเห็นพลเอกประยุทธ์ออกมาประกาศว่า รัฐบาลจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจังเพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างอย่างกว้างขวาง และมีเนื้อหาที่มีความเป็นประชาธิปไตย เพิ่มอำนาจแก่ประชาชน ขยายการมีส่วนร่วมและเสรีภาพมากขึ้น
๓) การประกาศยกเลิกยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี (๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) เพราะยุทธศาสตร์ฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และในปัจจุบันก็ล้าสมัยไปแล้ว พร้อมกันนั้นก็แก้ไขพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ๒๕๖๐ เสียใหม่ เพื่อผนึกพลังทางสังคมและให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติใหม่
๔) ประกาศสนับสนุนและสร้างกลไกที่เป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ตำรวจ และกองทัพ โดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
๕) การปรับคณะรัฐมนตรี โดยปรับบุคคลทุกคนที่มีชื่อเสียงและพฤติกรรมอื้อฉาวเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ ปกปิดทรัพย์สิน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
และบุคคลที่ไร้ความสามารถออกจากตำแหน่งทุกคน จากนั้นแต่งตั้งบุคคลใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแทนโดยพิจารณาจากความสามารถ ความซื่อสัตย์ และการเสียสละต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง มิใช่แต่งตั้งตามจำนวนโควตาของ สส.ของแต่ละกลุ่ม แต่ละพรรค
๖) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้ง คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ และมีอนุกรรมการประเมินผลแห่งชาติระดับจังหวัด ที่ประกอบด้วยตัวแทนประชาชนทุกภาคส่วน คณะกรรมการและอนุกรรมการมีอำนาจหน้าที่ติดตามประเมินผลโครงการของรัฐบาล หน่วยราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจทุกระดับ
แต่หากไม่มีเรื่องเหล่านี้ให้เห็น แม้แต่เรื่องเดียว ภายในหนึ่งหรือสองเดือน เราก็สามารถสรุปได้ว่า สัญญาประชาคมที่พลเอกประยุทธ์ประกาศออกมาเป็นเพียงสัญญาที่ว่างเปล่า และเป็นเพียงปฏิบัติการเชิงจิตวิทยามวลชนเพื่อลดแรงกดดันต่อรัฐบาลเท่านั้น
สิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์จะเผชิญ กรณีที่ละเมิดสัญญาประชาคมก็คือ ความเสื่อม เสียงวิจารณ์ การตำหนิ และการขับไล่ออกจากอำนาจ...”
ผมขอเรียนท่านนายกฯ ด้วยความเคารพว่า หยุดอยู่อย่าง “เสียผู้เสียคน” ไปเรื่อยๆ เลยครับ แม่ยกกองเชียร์ที่เอาใจช่วย เพราะหวังให้ประเทศชาติ สงบ ก้าวหน้า ความขัดแย้งเจือจาง จะได้ไม่สิ้นหวังและซึมเศร้าไปเรื่อยๆ เพราะการกระทำและคำพูดของท่าน มักไม่ค่อยสอดคล้องกัน ยิ่งได้ทีม “แต่งบท” สวยๆ มาให้ท่านอ่าน ก็กรี๊ดกันแค่ชั่วข้ามคืน ครั้นพอตื่นพบว่า อะไรที่ท่านพูดมา ถึงเวลาท่านก็ไม่เคยทำ และมักจะใช้วิธีการ “ลอยตัว” ว่าเรื่องนั้นๆ “ไม่เกี่ยวกับผม”
ตกลงให้ประเทศนี้ มีนายกรัฐมนตรีคนดี ที่“ไม่เกี่ยวกับอะไรทั้งนั้น” แถมไม่มีงานอะไรสักอย่างที่กำหนดอย่างมุ่งมั่นจากตัวท่าน กำกับ ผลักดันและติดตามเพื่อให้ “สำเร็จ” สักประการเลยด้วย
จริงไหม ตั้งแต่เป็นนายกฯ มา ไม่เคยมีโครงการใดสักโครงการหนึ่งที่เป็น “งานของพล.อ.ประยุทธ์” โดยตรง ชนิดที่มุ่งมั่น เป็นตายก็ต้องทำ ทำให้สำเร็จ ทำอย่างพากเพียร
หรือท่านทำได้แค่ออกงานอีเว้นท์และอ่านบทลวงคน!!
"มีส่วนร่วม" - Google News
June 21, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/3ddHNss
คอลัมน์การเมือง - ลมปากของ 'ประยุทธ์' - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
"มีส่วนร่วม" - Google News
https://ift.tt/3eCA8Vu
No comments:
Post a Comment